Visual Thoughts: Four Thousand Weeks

เราค่อนข้างมีความสนใจเรื่อง “เวลา” และการ “ใช้เวลา”
พอมีคนแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้ คือ “Time Management for Mortals” หรือ การจัดการเวลาสำหรับคนที่ยังมีชีวิต
แต่ด้วยศัพท์คำว่า Mortals ที่ใช้ มันมีนัยยะหมายถึง “มนุษย์มนาธรรมดาที่ต้องตาย”

ถ้าใครได้คุยกับเรา เรามักจะพูดถึง “เวลาชีวิตไม่ใช่นาฬิกาหน้าปัด หรือ นาฬิกาดิจิตัล”
แต่ชีวิตคนเราเป็น “นาฬิกาทราย” ที่กำลังนับถอยหลัง โดยที่เราไม่รู้ว่าทรายจะหยุดหยด หรือ หมดในวันไหน

ขอสรุปประเด็นจาก The Four Thousands Weeks ของ Oliver Burkeman ไว้หน่อย
เพื่อกันลืมในอนาคต และเพื่อจดจำทบทวนอีกครั้ง

บางทีชีวิตเราก็ทุกข์กับการที่พยายามจะจัดการเวลา

หนังสือบอกว่า การที่เราพยายามจะจัดการกับเวลาด้วยความเชื่อที่ว่า “เราควบคุมเวลาได้ 100%”
มีแต่ทำให้เรารู้สึกผิด (guilt) และไม่มีความสุข (unhappy)

ถ้าเรามองเวลาของชีวิตได้ตามความเป็นจริง และยอมรับว่าเวลาเรามีจำกัด ชีวิตมีจำกัด
และไม่ใช่การใช้ชีวิตแบบ “เรามีเวลา” แต่ “ตัวเราเองนี่แหละ คือ เวลา” อาจจะทำให้เรามีความสุขและใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายได้มากกว่า

สิ่งที่ถูกลวงตา Vs ความเป็นจริง

เราถูกลวงตาว่าต้องควบคุมเวลาให้ได้ 100%

  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เรามอง “เวลา” เป็น “ทรัพยากร” ที่ต้องใช้เพื่อ Maximize profit หรือ ทำให้เกิดผลตอบแทนและได้กำไรกลับคืนมา ทำให้เรามอง ‘เวลาว่าง’ มีมูลค่าน้อยกว่า ‘เวลาทำงาน’ มันจึงส่งผลให้เราต้อง ‘จัดการเวลา’ เพื่อที่จะ ‘ทำและใช้มันเพื่อการทำงาน’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลามันอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องบริหารและใช้เพื่อการทำงานก็ได้
  • เทคโนโลยีที่สร้างมาเพื่อทำให้เราประหยัดเวลา (Time-saving technology) ทำให้เราหลงและเผลอคิดไปว่า “ทุกอย่างต้องรวดเร็ว” และมัน “เร่ง” ให้เราต้องเร็วกว่านี้ ต้องไวกว่าเดิม ไปเรื่อย ๆ เพราะธรรมชาติของสมองและของมนุษย์เราปรับตัวให้เคยชินได้ไวและไม่เคยพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะคุมเวลาได้ 100% เพราะ 3 เหตุผล

  1. ยิ่งเราทำ Task หรืองานได้มากแค่ไหน ก็จะมี Task ใหม่เติมมาเรื่อย ๆ และบางครั้งสิ่งที่เติมเข้ามามันไม่ใช่ Task ที่สำคัญและจำเป็นเลย เราเพียงแต่ฆ่าเวลา และ ใช้เวลาให้หมดไปเพราะความเคยชินว่า เวลาจะมีคุณค่าได้ ต้องใช้ไปกับการทำงานหรือทำสิ่งที่ Productive
  2. ยิ่งเราเร่งและทำได้เร็วในวันนี้ มันคือความเร่งที่เราเองคาดหวัง คนอื่น ๆ คาดหวัง และมันเป็นมาตรฐานของตัวเราที่ถูกวางไว้ในอนาคต การที่ทำได้ช้าลง ก็กลายเป็นแรงกดดัน ความรู้สึกผิด ดังนั้นเราจึงต้องเร่งให้ได้มากกว่าเดิมหรือเท่าเดิมไปตลอด
  3. จิตใต้สำนึกเราพยายามหนีจากสิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ทำไปแล้วอาจจะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นหากเราไม่จับยึดมันไว้ให้ดี แล้วคิดแบบกะ ๆ ว่าเราจะจำได้ว่าต้องทำอะไร จิตใจของเราจะพยายามซ่อนงานที่ยากเหล่านั้นเอาไว้ให้เราทำทีหลัง หรือ หลบเลี่ยงที่จะทำมันไปสนใจอย่างอื่นก่อน

ความทุกข์ทรมาน 4 อย่างจากช่องว่างระหว่างสิ่งที่ลวงตาและความเป็นจริง

  1. เรารู้สึกผิดว่าทำไมเราไม่ Productive กว่านี้
  2. เราพยายามแยกตัวออกห่างจากเพื่อน ๆ หรือสังคม เพื่อที่จะไปพยายามควบคุมเวลาของตัวเรา ทำให้เกิดความโดดเดี่ยวและการแยกตัวออกจากกลุ่ม (loneliness & Isolation)
  3. เมื่อ “ต้องทำให้ได้ ทำให้หมด” เป็นคติประจำใจ เราจึงไม่เคยได้เลือก ไม่เคยได้มองว่าอะไรไม่ต้องทำก็ได้ หรือ อะไรสำคัญที่สุด
  4. เราหมกมุ่นอยู่กับ “อนาคต” ว่าทำสิ่งนี้แล้วจะต้องทำอะไรต่อ ต้องวางแผนเพื่อให้อนาคตสมบูรณ์หรือดีกว่าเก่า ทำให้เราลืมที่จะรับรู้และมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน

ยอมรับ 2 สิ่ง แล้วฝึกฝนการใช้ชีวิตในข้อจำกัด

หนังสือเล่มนี้ พูดถึงการยอมรับใน 2 เรื่อง คือ
1. ยอมรับในข้อจำกัดและใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในข้อจำกัดเหล่านั้น อย่าคิดว่าเราจะอยู่เหนือข้อจำกัดหรือกฎเกณฑ์เหล่านี้
2. ยอมรับว่าเวลาชีวิตเรามีที่สิ้นสุด

#ยอมรับ 1 : เราไม่ได้มีเวลาทำทุกสิ่งได้หมดตามใจอยาก

  1. Making time หาเวลา อย่ารอเวลา
    สิ่งที่สำคัญ ให้เลือกขึ้นมาทำก่อนเป็น “หินก้อนใหญ่” และอย่าคิดไปว่า “เดี๋ยวมีเวลาค่อยทำ” หรือ “เดี๋ยวจะได้มีเวลาว่างยาว ๆ แล้วจะทำ” เพราะเราควบคุมเวลาเอง และ ควบคุมอนาคตไม่ได้ขนาดนั้น
  2. Limit in-progress projects อย่ารับปาก มากกว่าที่รับไหว
    ฝึกฝนที่จะประเมินตัวเอง และ ปฏิเสธ ไม่รับปากหรือรับงานนั้นงานนี้ โดยที่เรารับไม่ไหว ให้นึกเสมอว่าการได้ทำสิ่งนั้นก็ดีและมีค่าเสียโอกาส มันคือค่าเสียโอกาสของการ Say No แต่ค่าเสียโอกาสของการ Say Yes ก็มี
  3. Tolerance for Discomfort อดทนให้ได้กับความอึดอัดของการเริ่มทำและในขณะทำ
    เพราะสมองพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่อยากทำในสิ่งสำคัญ หรือ สิ่งที่เราไม่แน่ใจว่าเราจะทำมันได้สำเร็จ แต่สิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นประโยชน์และมีความหมายต่อชีวิตมากกว่าอะไรที่ง่าย ๆ หรือ ไม่ท้าทาย ดังนั้นการฝึกจิตใจให้แข็งแกร่งที่จะหยิบมันมาเริ่มทำ และ อดทนทำต่อเนื่องไม่ละเลิก จะช่วยให้เราทำสิ่งที่สำคัญในเวลาจำกัดได้
  4. Future won’t unfold exactly as planned อนาคตมันจะไม่ได้เป็นไปเป๊ะ ๆ ตามแผนที่เราวางไว้
    ดังนั้นหากเราจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการคิดแผน และ ปรับแผนอยู่ตลอด มันจะทำให้เราวิตกกังวลและไม่มีทางมีความสุข วางแผนคร่าว ๆ และลงมือทำ ยอมรับว่ามันไม่มีอะไรจะเป็นไปตามแผนได้ 100 % เราจะมีชีวิตที่มีความสุขขึ้น และไม่ไปกะเกณฑ์บังคับคนรอบตัวว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น
  5. Patience for the current pace of life
    ทุกอย่างมันก็มีจังหวะ และ เวลาของมัน “eigenzeit” หมายถึง เวลาที่จำเป็นโดยธรรมชาติในการทำสิ่งนั้น ๆ ดังนั้นบางอย่างมันต้องบ่ม ต้องใช้เวลา ก็ต้องยอมรับและอดทนให้ได้ว่าจะต้องใช้เวลา
  6. Free time with friends ใช้เวลากับเพื่อนและความสัมพันธ์บ้าง
    เมื่อเราไม่สามารถควบคุมเวลาทั้งหมดไว้ได้ และ เพื่อลดความเครียด ความเหงา และการแยกตัวออกห่าง เราจึงควรใช้เวลากับความสัมพันธ์ กับคนที่เราอยากใช้ ใส่เข้าไปในตารางเวลาด้วย

#ยอมรับ 2: ยอมรับว่าชีวิตเรามีสิ้นสุด (Life is finite)

หากนับเวลาถึงอายุ 76 ไป เราจะมีเวลาเพียง 4,000 สัปดาห์ เราไม่มีทางจะได้รับประสบการณ์ทุกประสบการณ์ที่เราอยากจะได้รับ เราจึงควรใช้เวลาที่มีจำกัดกับสิ่งที่มีความหมายและให้ความสุขกับเรา

  1. Committing to a choice ยอมรับที่เลือก และ อยู่กับสิ่งที่เลือกบ้าง
    หลาย ๆ คนใช้ชีวิตแบบที่ไม่เลือก เพราะกลัวจะเสียดาย ถ้าเลือกไปแล้วผิด หรือ เลือกไปแล้วเจอสิ่งที่ใช่มากกว่าในอนาคต แต่การทำแบบนั้นกลายเป็นว่าเราไม่มีความสุขในปัจจุบันเลย เพราะได้แต่ลังเล หรือ ไม่ได้เดินไปในทิศทางที่อยากเดิน สิ่งหนึ่งที่ชีวิตเป็นและมีภูมิต้านทานคือ ถ้าเราเลือกอะไรไปแล้ว เราจะไม่ค่อยเสียใจ (regretful action) เพราะเราจะมีกลไกปลอบประโลมใจ และให้อภัยได้ แต่การไม่เลือกอะไร ในอนาคตเรากลับจะเสียใจ แล้วย้อนกลับมาแก้อะไรไม่ได้ (regretful inaction) ดังนั้น เลือกอะไรสักอย่าง แล้วเดินไปกับมันจนสุดทาง เราจะพบกับความสุขที่แท้จริง มากกว่าการอยู่ที่จุดตัดสินใจแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
  2. What’s happening in the present, not in the future สังเกตและรับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มากกว่า ชะเง้อมองแต่อนาคต
    เพราะการที่เราคิดอยู่เสมอว่าอนาคตที่วาดฝันจะเป็นอย่างไร ฉันต้องลงทุนและลงมือทำวันนี้ ทำ ทำ ทำ เพื่อที่จะสำเร็จได้ในอนาคต เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในอนาคต แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เสียไป คือ เราไม่เคยได้ลิ้มรสความสุขเลย เพราะรอคอยแต่วันที่จะสำเร็จในอนาคตและไปมีความสุขตรงนั้น ซึ่งพอไปถึงจริง ก็กลับเป็นความสุขที่ระยะสั้นมาก ๆ ดังนั้น พยายามสุขในสิ่งที่ทำ และ สุขกับปัจจุบันดีกว่า
  3. Purposeless time in schedule ใส่สิ่งที่ไร้เป้าหมาย ทำไปโดยไม่มีวัตถุประสงค์เข้าไปในตารางบ้าง
    ทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องคาดหวังว่ามันจะต้องมีประโยชน์ หรือ ส่งผลดีงามต่ออนาคตบ้าง เพราะนั่นคือการเล่น และการได้ใช้ชีวิต มันคือการใช้เวลาที่จำกัด ให้ได้สัมผัสและลิ้มรสประสบการณ์อีกแบบ นอกเหนือจากแค่ความสำเร็จ และ สิ่งตอบแทนทางสังคมที่มีอิทธิพลหล่อหลอม
  4. อย่าเอาใจไปยึดมั่นไว้ว่าจะเปลี่ยนโลก เพราะเราเปลี่ยนไม่ได้
    สุดท้ายแล้ว เราก็จะรู้ว่าเราเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในจักรวาล เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ หาบทบาทที่เราต้องทำ สิ่งที่เราต้องแสดงให้เจอ และทำมันไปจวบจนวันสุดท้าย มันอาจจะเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่มันก็ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ และกระบวนการทำงานที่อยู่ใกล้ตัวเราปรับเปลี่ยนไปได้ และเอาเวลามาอยู่กับการพัฒนาบทบาท ขัดเกลา และเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น น่าจะดีกว่า

สรุป

หนังสือเล่มนี้ชวนคิด และ ชวนให้มองชีวิตเพื่อที่จะปรับกลไก ปรับระบบ เพื่อใช้ชีวิตไปในอีกวิถี มันอาจจะไม่ได้แหกกฎหรือวิธี time management ที่เครื่องมือต่าง ๆ แนะนำ เช่น GTD: Getting things done การ Prioritize หรือ eat that frog กินกบตัวนั้นซะ แต่มันคือการเรียบเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ให้เราเข้าใจ ในมิติของ Wellbeing ว่าเราจะเลือกใช้เวลาและบริหารเวลากับชีวิตอย่างไร

beanhavior.
มะเขือเทศเดินดิน.